ออมสิน เตรียมปล่อย 4 สินเชื่อชูดอกน้อย ผ่อนนาน
หลังจากที่ได้มีมาตราการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ของ co vid19 ของทางภาครัฐแล้ว ล่าสุดทางธนาคารธกส.และธนาคารออมสินได้มีการปล่อยเงินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก co vid19 ได้กู้ไปใช้กันในช่วงนี้ โดยในวันนี้ ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ของ co vid19 ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังได้ให้ไว้ โดย ความคืบหน้าของมาตรการที่ธนาคารออมสินดำเนินการอยู่ ได้แก่
1. การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 2894333 ราย วงเงินรวม 1.129 ล้านล้านบาท
2. สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก co vid19 หรือเงินกู้ฉุกเฉิน วงเงิน 10000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และวงเงิน 50000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีรายได้ประจำ วงเงินรวม 40000 ล้านบาท
ปัจจุบันมีผู้ยื่นกู้แล้วจำนวน 2663197 ราย และได้ส่งข้อความ SMS นัดให้มายื่นเอกสารแล้ว 1969739 ราย โดยได้ดำเนินการอนุมัติไปแล้ว 310006 ราย คิดเป็นวงเงิน 7527.16 ล้านบาท ซึ่งธนาคาร ได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มกำลัง และทำทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 63
3. เงินกู้ซอฟต์โลน 150000 ล้านบาท ได้มีผู้ยื่นกู้แล้ว 12352 ราย วงเงินรวม 131976.81 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติแล้ว 105242.34 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่กำลังทยอยอนุมัติอีก 44757.66 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิ.ย. 63 จะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด
ล่าสุดธนาคารออมสินได้อนุมัติซอฟต์โลน อีก 2000 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2 เปอร์เซ็นต์ ให้กับสำนักงานธนานุเคราะห์ หรือ สธค. เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์สินมาจำนำในช่วงนี้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ดร.ชาติชาย กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ co vid19 ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้ง 9 แห่ง ธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทาง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยแนวคิด คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน ผ่าน 4 กระบวนการ ดังนี้
กระบวนการที่ 1 ช่วยเหลือ ดำเนินการภายใต้มาตรการเสริมสภาพคล่องต่อเนื่อง หลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนสิ้นสุด ด้วยการพักชำระหนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ตามความสามารถและยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20 เปอร์เซ็นต์ กรณีผ่อนชำระดีต่อเนื่อง รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไป
นอกจากนี้ ยังตั้งทีมคลินิกที่บริการด้วยระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ สื่อสังคมออนไลน์ธนาคารออมสิน เช่น GSB Society ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน รับเรื่องช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ประสานเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการประชาชนอย่างครอบคลุม
กระบวนการที่ 2 การคืนอาชีพ ธนาคารฯ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยประชาชน สร้างงานชุมชน โครงการช่างประชารัฐ ให้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงมีการจัด ตลาดนัดเราไม่ทิ้งกันทั่วประเทศ
กระบวนการที่ 3 คืนความสุข โดยธนาคารฯ ได้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ดำเนินการ ตู้คลังออมสินปันสุข ทุกชุมชน ซึ่งได้นำร่องจัดทำไปแล้วในหลายพื้นที่ และต่อไปจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ออมสินดูแล ห่วงใย ไม่ทิ้งกัน สำหรับกระบวนการสุดท้าย
กระบวนการที่ 4 ฟื้นฟูรายได้ ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และ สินเชื่อซอฟต์โลนช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว
ขอบคุณ ธนาคารออมสิน
เรียบเรียง mumkhao